ผู้สมัครงาน
ยันมีหลักฐานพร้อมเอาผิดแล้ว ขณะที่ “ต๊อด-วุ้นเส้น” แจ้งเข้าให้ข้อมูลที่กรมควบคุมโรค 19 ต.ค.นี้
กรณีสำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค แจ้งเอาผิด 7 ดาราคนดังที่โพสต์ภาพตัวเองกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ยี่ห้อดัง ตามมาตรา 32 พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พร้อมออกหนังสือเชิญคนดังทั้ง 7 คนมาให้ข้อมูล และต่อมาดาราทั้ง 7 คน ต่างปฏิเสธการรับจ้างโพสต์ภาพจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ต.ค. นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ว่า การที่ดาราต่างออกมาปฏิเสธว่าไม่ได้รับการว่าจ้างจากบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นั้น เป็นเรื่องที่แต่ละคนพูดได้ แต่กระบวนการที่ทำไว้ กรรมจะเป็นเครื่องชี้เจตนาของแต่ละบุคคล ซึ่งใครทำอะไรไว้ย่อมรู้อยู่แก่ใจ การโพสต์ภาพเบียร์หราบนอินสตาแกรม แสดงออกมาทางการกระทำอยู่แล้ว และขอฝากเตือนว่าขณะนี้เรามีหลักฐานมากพอสมควรแล้ว และการให้สัมภาษณ์ของดาราที่อยู่ในกรณีนี้ อันตรายมาก เพราะถ้ามีการสอบสวนพบหลักฐานที่สาวถึงตัวผู้ให้สัมภาษณ์ และเมื่อมาให้การต่อตนในฐานะพนักงานเจ้าหน้าที่ตามประมวลกฎหมายอาญา ถือว่าเป็นการให้การเท็จ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา
นพ.สมานกล่าวอีกว่า ขอเตือนว่ากระทรวงสาธารณสุขไม่ได้มีเจตนาเอาผิดแบบเอาเป็นเอาตาย แต่เราต้องการคุ้มครองสวัสดิภาพทางสังคม และไม่ต้องการให้เด็กและเยาวชนถูกมอมเมาด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ หากใครทำผิด ยอมรับผิด และพูดความจริง จะดีที่สุด อีกทั้งถ้าให้การเป็นประโยชน์ต่อรูปคดี ในชั้นอัยการและชั้นศาล อาจจะมีการกันตัวให้เป็นพยานแทนได้ แต่หากยังไม่เกรงกลัว ไม่พูดความจริง และเชื่อทนายของบริษัทเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขอเตือนว่าควรจะจ้างทนายมาคุ้มครองตัวเองด้วย เพราะการให้การเท็จ นอกจากจะกันเป็นพยานไม่ได้แล้ว บริษัทจะรอด แต่ตัวเองจะต้องโดนข้อหาให้การเท็จต่อเจ้าพนักงานเพิ่มเติมอีก
“กรณีนี้คงต้องพิจารณาในภาพรวมให้ครบถ้วนว่ามีความสอดคล้องกันอย่างไรบ้าง โดยเฉพาะรูปภาพที่โชว์ขึ้นบนอินสตาแกรม คิดง่ายๆว่าเป็นภาพบังเอิญประเภทหมู่ มีความเป็นไปได้ยากมากๆ หรือทำเป็นขบวนการ ในส่วนข้อมูลหลักฐานประกอบอื่นๆ ตอนนี้เรามีพร้อมแล้ว คิดว่าน่าจะใช้ประกอบสำนวนได้มาก” ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กล่าว
นพ.สมานกล่าวอีกว่า ในวันที่ 19 ต.ค.นี้จะครบกำหนดกรณีผ่อนผันให้สำหรับสินค้าค้างสต๊อก เหล้า เบียร์ ตามประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไข เกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2558 ผู้ผลิต ผู้นำเข้า และผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รายย่อย จะต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยเรื่องฉลากและบรรจุภัณฑ์ ที่จะต้องไม่ใช้ข้อความที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค ด้วยการใช้ข้อความเป็นเท็จ หรืออวดอ้างชักจูง เกินความจริง อาทิ ดื่มนุ่ม ลื่นคอ หากตรวจพบว่ากระทำการฝ่าฝืนจะมีโทษจำคุก 1 ปี ปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งในเรื่องนี้เราต้องตรวจเข้มเด็ดขาด และจับมาดำเนินคดีเป็นตัวอย่างด้วย นอกจากนี้นายปิติ ภิรมย์ภักดี และ “วีเจวุ้นเส้น” น.ส.วิริฒิพา ภักดีประสงค์ จะเข้ามาให้ข้อมูลที่กรมควบคุมโรคด้วย
วันเดียวกัน ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การโพสต์ภาพโชว์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียล” สำรวจระหว่างวันที่ 14-15 ต.ค.2558 จากประชาชนทั่วประเทศจำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง ผลการสำรวจพฤติกรรมการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เช่น เหล้า เบียร์ รัม) ของประชาชน พบว่า ส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.12 ระบุว่า ไม่เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เลย ร้อยละ 24.08 ระบุว่า ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แค่เป็นพิธี เฉพาะตามเทศกาล งานเลี้ยงต่างๆ ร้อยละ 9.68 ระบุว่า เคยดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แต่ปัจจุบันเลิกแล้ว ร้อยละ 7.20 ระบุว่า ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ร้อยละ 5.12 ระบุว่า ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และร้อยละ 4.80 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกวัน
ด้านการรับทราบของประชาชนเกี่ยวกับการโพสต์ภาพโชว์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียล อาทิ อินสตาแกรม เฟซบุ๊ก อาจถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 พบว่า ร้อยละ 39.44 เพิ่งทราบเมื่อมีข่าวกรณีดาราและคนดังในสังคมโพสต์ภาพโชว์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียล ร้อยละ 33.12 ไม่เคยทราบเลย ร้อยละ 27.04 ทราบมานานแล้ว และร้อยละ 0.40 ไม่ระบุ/ ไม่แน่ใจ แต่ความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีดาราและคนดังโพสต์ภาพโชว์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อโซเชียล พบว่า ร้อยละ 29.36 เชื่อว่าเป็นสิทธิเสรีภาพส่วนบุคคล ตราบใดที่ไม่เมาแล้วขับ หรือก่อความเดือดร้อนให้ผู้อื่น ร้อยละ 24.88 เชื่อว่าเป็นการโฆษณาแฝง ร้อยละ 20.88 เชื่อว่าเป็นไลฟ์สไตล์ส่วนตัวและทำไปโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ร้อยละ 14.56 ระบุว่าเป็นแบบอย่างที่ไม่ดีแก่เด็กและเยาวชน ร้อยละ 1.12 ระบุว่าต้องดูที่เจตนาและดูเป็นรายกรณีไป และร้อยละ 9.20 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ ขณะที่ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการออกกฎหมายห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสื่อทุกชนิด ตลอด 24 ชั่วโมง ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาทางตรง ทางอ้อม หรือโฆษณาแฝง พบว่า ร้อยละ 65.44 เห็นด้วย มีเพียงร้อยละ 28.08 ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 6.48 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ
หางานตามสาขาอาชีพ
JOBBKK.COM © สงวนลิขสิทธิ์ All Right Reserved